กรรมการผู้อำนวยการ 'กรุงเทพธนาคม' กล่าวถึงกรณี คดีค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย)

   วันที่ 14 ธ.ค.65 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กล่าวถึงกรณีคดีค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) ว่า กรณีผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้ประกาศทวงหนี้ตามสัญญาค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผ่านสื่อต่างๆ หลายครั้งและหลายรูปแบบ
   ข้อเท็จจริง คือ ผู้รับจ้างเดินรถได้ใช้สิทธิฟ้องกทม.และบริษัท ต่อศาลปกครองมาตั้งแต่ปี 2564 เมื่อผู้บริหารชุดปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่ ได้รีบยื่นคำร้องต่อศาลขอขยายระยะเวลาส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้คดีในหลายประเด็นอย่างเต็มที่ แต่ศาลยืนยันว่าสิ้นสุดระยะเวลาส่งเอกสารหลักฐานแล้ว จึงปฏิเสธไม่รับเอกสารหลักฐานเข้าสู่สำนวนเพิ่มเติม ทั้งนี้ศาลชั้นต้นก็กรุณามีคำแนะนำให้คู่ความ 2 ฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ยกัน แต่ผู้รับจ้างเดินรถยืนยันต่อศาลว่าจะไม่เจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งก็เป็นสิทธิโดยชอบ
   ต่อมาศาลได้นัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ย 2565 โดยมีคำตัดสินให้บริษัทแพ้คดีในศาลชั้นต้น บริษัทจึงต้องรีบยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วันพร้อมกับส่งเอกสารหลักฐานใหม่ในวันที่ 5 ต.ค.2565 และชำระค่าธรรมเนียมตามระเบียบอุทธรณ์คดี คดีพิพาทนี้จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ในศาลสูงสุด
   การที่บริษัทอุทธรณ์ต่อสู้คดีไปสู่ชั้นศาลสูงสุดนั้น ถือว่าได้ใช้สิทธิโดยชอบเสมอกัน มีผลให้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องรอฟังคำสั่งของศาลสูงสุดที่จะให้ความยุติธรรม บริษัทจึงไม่เคยคิดจะนำเนื้อหาคดีไปจัดทำสื่อเผยแพร่สร้างกระแสต่อสังคมหวังกดดันผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย บริษัทไม่เคยนำประเด็นคดีไปจัดอีเว้นท์บรรยายฟ้องศาลท้าวมหาพรหมตามความเชื่อส่วนบุคคลให้เป็นกระแสข่าว ทั้งนี้เพราะบริษัทมีความเชื่อมั่นกระบวนการศาลที่ผู้รับจ้างเดินรถเป็นผู้เลือกดำเนินการมาตั้งแต่ต้น
   ดังนั้น บริษัทจึงขอวิงวอนให้ผู้รับจ้างเดินรถ 1) ยุติการนำคดีพิพาทที่ศาลสูงสุดกำลังพิจารณา ไปป่าวประกาศและตัดสินเสียเองให้คู่ความต้องชำระหนี้ในทันที อาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ 2) หยุดสร้างประเด็นผ่านสื่อด้วยข้อมูลที่ยังไม่มีข้อยุติจากศาล ทั้งยังหมิ่นเหม่จะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย และ 3) ควรรักษาบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในฐานะคู่ค้าทางธุรกิจ
   อนึ่ง นอกเหนือจากคดีสัญญาค่าจ้างเดินรถดังกล่าวข้างต้นแล้ว บริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความสมบูรณ์ของอีกสัญญาหนึ่งคือ กรณีการซื้อขายระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย 2) เพื่อตรวจสอบที่มาและความถูกต้องทางกฎหมายของสัญญานี้ โดยได้รับเกียรติจากท่านอดีตประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 5 และอดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ท่านศรีอัมพร ศาลิคุปต์ มาทำหน้าที่ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการตรวจสอบฯ ซึ่งประกอบไปด้วยนักกฎหมาย ผู้ชำนาญการคดีการทำนิติกรรมสัญญา โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยเร็ว

 

ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2565

 

 

Visitors: 51,762