โครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชน
เพื่อผลิตพลังงานขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน
 

ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช

 

“ก้าวแรกแห่งการเรียนรู้  เพื่อมหานครสีเขียวอย่างยั่งยืน”

 

     โครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (MBT) เพื่อผลิตพลังงาน ขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตันต่อวัน ได้เปิดดำเนินการมาครบ 1 ปี นับเป็นก้าวแรกแห่งการเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติจริง ในการนำเทคโนโลยีกำจัดมูลฝอยระบบใหม่มาใช้ในกรุงเทพมหานคร

    บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้เดินระบบโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนแห่งล่าสุดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงโรงกำจัดมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นโรงงานกำจัดมูลฝอยที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ก่อตั้งขึ้นเป็นแห่งที่ 2 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นการนำขยะมาแปรรูปเป็นพลังงานและได้ผลพลอยได้ต่างๆ ใช้ขยะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน เพื่อร่วมผลักดันกรุงเทพมหานครไปสู่มหานครสีเขียวอย่างยั่งยืน

    กระบวนการกำจัดมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีกระบวนการเชิงกล-ชีวภาพ หรือ Mechanical-Biological-Treatment : MBT  ขั้นตอนการทำงานคือ มูลฝอยที่เข้ามาจะถูกนำเข้าไปยังระบบคัดแยกเพื่อแยกมูลฝอย 2 ประเภท คือ มูลฝอยอินทรีย์ และมูลฝอยอนินทรีย์ โดยมูลฝอยอินทรีย์เข้าระบบย่อยสลายทางชีวภาพ เพื่อให้ได้ก๊าซมาผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนมูลฝอยอนินทรีย์ เข้าสู่ระบบการคัดแยกอีกครั้งเพื่อให้ได้ ขยะเชื้อเพลิง(RDF) และขยะรีไซเคิลต่อไป 

 

 



     ทั้งนี้ผลดำเนินการในช่วงปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯได้รับมูลฝอยเข้ากำจัดรวม 229,221 ตัน ได้ผลพลอยได้เป็นขยะเชื้อเพลิง RDF รวม 33,905 ตัน ขยะรีไซเคิล 2,676 ตัน และผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทั้งหมด 9.8 ล้านหน่วย

 

    พร้อมกันนี้บริษัทฯได้คำนึงถึงการดูแลสภาพแวดล้อมภายในโรงงาน โดยได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ทั้งไม้ขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนกว่า 3,000 ต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดกลิ่นและลดฝุ่นละออง เพิ่มความร่มรื่นสร้าง ภูมิทัศน์ที่สวยงาม อีกทั้งยังได้สร้างถนนให้แก่ชุมชนที่อยู่ติดกับโครงการ และได้ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างรูปแบบโซลาเซลล์ด้วย

 

    อย่างไรก็ตามในการดำเนินงานที่ผ่านมา บริษัทฯได้เพิ่มมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบด้านกลิ่นมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เพิ่มเวลาล้างทำความสะอาดโรงงานในจุดที่เป็นต้นกำเนิดกลิ่น การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดกลิ่นภายในอาคาร  ก่อสร้างปิดคลุมโรงงานให้มิดชิดเพิ่มเติมในหลายจุด การจัดช่วงเวลาการทำงานในส่วนต่างๆของโรงงาน เป็นต้น

 

    ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ตัวแทนของบริษัท ตัวแทนของชุมชน ตัวแทนของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานเขตประเวศ สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักอนามัย ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อร่วมพิจารณาให้ข้อเสนอแนะและตรวจสอบความก้าวหน้าการดำเนินงานแก้ปัญหากลิ่นและสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เป็นสาเหตุของผลกระทบต่างๆ เพื่อให้โรงงานมีสภาพแวดล้อมที่ดีขี้น และเพื่อการอยู่อาศัยร่วมกันกับชุมชนโดยรอบได้อย่างราบรื่น โดยในปี 2565 บริษัทฯมีแผนงานด้านกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งจะเร่งดำเนินการในพื้นที่ชุมชนที่เกี่ยวข้องต่อไป



 

 

Visitors: 27,994