เพิ่มตัวแทน 3 หมู่บ้าน ร่วมเป็นคณะกรรมการแก้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาด 800 ตันต่อวัน

 

  เพิ่มตัวแทน 3 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ ที่ประชุมแก้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาด 800 ตันต่อวัน เพิ่มคณะกรรมการฯตรวจสอบจากตัวแทนหมู่บ้าน อิมพีเรียลฯ และหมู่บ้านใกล้เคียง

    วันที่ 14 มิถุนายน 2565 ที่โรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาด 800 ตันต่อวัน ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ได้จัดประชุมคณะกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2/2565 โดยมีนายพลกฤต บุญสิน หัวหน้าศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช สำนักสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มีคณะกรรมการประกอบด้วย นายสมาน โตหัวป่า ผู้แทนชุมชนเขตเขตประเวศ นายวิจารณ์ อินทรกำแหง ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ และผู้แทนชุมชนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ ร่วมประชุม

   ทั้งนี้ได้เชิญนายวรเศรษฐ์ วิศาลศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตประเวศ นายวัลลภ จิวหลง ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิฯ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นายพรชัย จันทธำรงวัฒน์ หัวหน้าส่วนงานฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ กกพ. ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

   ในที่ประชุมได้มีประชาชนผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านอิมพีเรียล พาร์ค เข้ามาร่วมสอบถามในที่ประชุมด้วย โดยได้สอบถามมาตรการต่างๆ ของทางโรงงานที่ได้มีการดำเนินการไปแล้ว และที่จะดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อไม่ทำให้กลิ่นออกไปภายนอกกระทบกับชุมชน รวมทั้งได้สอบถามเงื่อนไขการตั้งคณะกรรมการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ โดยผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานต่างๆ ได้ให้ข้อมูลและชี้แจงในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมการ สามารถจัดตั้งเพิ่มเติมภายหลังได้ และกรรมการฯมีหน้าที่ตรวจติดตามได้ตลอดช่วงที่โรงงานเปิดดำเนินการอยู่ กรณีการส่งตัวแทนชุมชนเป็นกรรมการ ในส่วนของสำนักงานเขตประเวศ ทางเขตฯได้มีการคัดเลือกจากชุมชนที่ลงทะเบียนกับเขต ที่อยู่ใกล้จุดก่อตั้งโรงงาน แต่อาจยังไม่ครอบคลุมในส่วนของหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งจะมีการเพิ่มเติมให้ครบถ้วน เป็นต้น

   ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีมติเพิ่มคณะกรรมการฯ โดยมีตัวแทนหมู่บ้านอิมพีเรียลฯจำนวน 1 ท่าน และหมู่บ้านใกล้เคียงอีกจำนวน 2 ท่าน รวมเป็น 17 ท่าน จากเดิมมี 14 ท่าน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ใกล้กับจุดก่อตั้งโรงงานได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการชุดนี้ด้วย ซึ่งเป็นไปตามความประสงค์ของทางคณะกรรมการฯที่ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2565

   ประธานในที่ประชุม กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ในการประชุมของคณะกรรมการติดตามฯ ทุกครั้งจะมีตัวแทนชาวบ้านจากหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเข้ามารับทราบการดำเนินงานแก้ไขปัญหาของทางโรงงาน และสามารถนำข้อมูลความคืบหน้าต่างๆ ในที่ประชุมไปแจ้งแก่ผู้รับผลกระทบได้โดยตรง โดยข้อเสนอแนะที่ประชาชนแจ้งเข้ามานั้นเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการฯ ที่จะได้รับทราบข้อมูลได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้มีการแก้ปัญหาได้ตรงจุดต่อไป ทั้งนี้ที่ประชุมกำหนดการประชุมครั้งที่ 3 ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565

 

 

 

ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2565

 

 

Visitors: 25,532