ข่าว

คณะอาจารย์จากภาควิชาเทคโนโลยี วิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
เข้าศึกษาดูงาน บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

   มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เข้าศึกษาดูงาน KT ด้านการพัฒนาเมือง
   คณะอาจารย์จากภาควิชาเทคโนโลยี วิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เข้าศึกษาดูงาน บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเมือง ด้านระบบขนส่งมวลชน ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเทคโนโลยี

 

 


 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เป็นประธานในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564
บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด


 


รถไฟฟ้าไร้คนขับสายแรกของประเทศไทย เปิดให้บริการแล้ว วิ่งฟรี 1 เดือน ถึง 15 ม.ค. 64

เชื่อมต่อทุกโหมดการเดินทาง “ล้อ ราง เรือ” เปิดพื้นที่เมืองใหม่กรุงเทพมหานคร ย่านฝั่งธนบุรี

 

   เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 ธันวาคม 2563 ที่สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการเดินรถโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง ระยะที่ 1 (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน) ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร โดยมี พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ดร.เกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และคณะผู้บริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) ให้การต้อนรับ
   พลตำรวจเอกอัศวิน กล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในเมืองมหานครเพื่อให้การเดินทางของประชาชนได้รับความสะดวกและลดปัญหาต่าง ๆ อันเกิดจากการจราจรติดขัด ที่ผ่านมาได้ศึกษาความเหมาะสมโครงการถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ให้ตอบสนองการต่อการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่ย่านเขตคลองสาน เขตธนบุรี มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ของพื้นที่การค้าการลงทุน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์และเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการมากมาย จึงได้ศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง โดยมีรูปแบบการลงทุนที่ไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ โดยกรุงเทพธนาคมได้ให้สิทธิพื้นที่โฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าแก่เอกชน เป็นระยะเวลา 30 ปี และนำรายได้ดังกล่าวมาลงทุนก่อสร้าง โดยทรัพย์สินในโครงการทั้งหมดเป็นของกรุงเทพมหานครตั้งแต่เริ่มให้บริการ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน โดยประโยชน์สูงสุดตกแก่ประชาชนลดปัญหาการจราจรแออัด เพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกสบาย สร้างแหล่งงาน แหล่งท่องเที่ยว และเสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่
   พลตำรวจเอกอัศวิน กล่าวด้วยว่า รถไฟฟ้าสายสีทองแม้จะมีระยะทางสั้นเพียง 1.8 กิโลเมตร แต่ถือเป็นระบบรองที่มีประสิทธิภาพ เพราะเชื่อมโยงการเดินทางของประชาชนในทุกโหมด ครบทั้งล้อ ราง เรือ โดยเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลม ที่สถานีกรุงธนบุรีและในอนาคตจะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ที่สถานีประชาธิปก และสายสีแดง (หัวลำโพง-มหาชัย) ที่สถานีคลองสาน นอกจากนี้ยังเชื่อมการเดินทางทางน้ำ สำหรับประชาชนที่จะใช้บริการเรือข้ามฟากและเรือด่วนเจ้าพระยาที่ท่าเรือคลองสาน และท่าเรือไอคอนสยาม โดยจะให้บริการฟรี1เดือน วันนี้ถึง15 ม.ค.64 หลังจากนั้นจะเก็บค่าโดยสารคงที่ 15 บาท ตลอดสาย
   ด้าน ดร.เกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) กล่าวว่า กรุงเทพธนาคม ได้เลือกใช้รูปแบบรถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นระบบนำทางอัตโนมัติ Automated People Mover (APM) ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือเป็นรถไฟฟ้าที่ใช้ล้อยาง มีขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพในการขนส่งผู้โดยสารในพื้นที่เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบหลัก โครงสร้างขนาดเล็กทำให้ก่อสร้างได้เร็วใช้เวลาประมาณ 2 ปี ไม่ต้องมีการเวนคืนที่ดิน มีช่วงรัศมีทางโค้งที่แคบที่สุดบริเวณแยกเป็บซี่ เพียง 32.70 เมตรเท่านั้น และแม้แต่พื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงก็สามารถก่อสร้างได้บนเขตทางสาธารณะ โดยที่ระบบยังคงความสะดวกสบาย ความรวดเร็วในการเดินทางและความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานสากล ทั้งในตัวรถและภายในสถานี
   ดร.เกรียงพล กล่าวต่อว่า เนื่องจากเป็นรถไฟฟ้าที่ไม่มีคนขับประชาชนอาจจะยังไม่คุ้นชิน ช่วงแรกที่เปิดให้บริการ ผู้เดินรถจะจัดเจ้าหน้าที่ขึ้นประจำรถไปพร้อมกับผู้โดยสาร ซึ่งในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาได้มีการทดสอบระบบจนมีความมั่นใจในความปลอดภัย ทั้งนี้ได้กำชับเรื่องการให้ความรู้แก่ผู้โดยสารเกี่ยวกับการปฏิบัติต่างๆ ภายในตัวรถเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับระบบ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบดูแลผ่านกล้องวงจรปิดและสื่อสารจากศูนย์ควบคุมได้ตลอดเวลาหากเกิดเหตุฉุกเฉิน สำหรับการปรับปรุงและคืนผิวถนน ขณะนี้ได้คืนผิวถนนกรุงธนบุรีและถนนสมเด็จเจ้าพระยาเรียบร้อยแล้ว ส่วนถนนเจริญนครบริษัทได้ประสานกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการประปานครหลวง (กปน.) ที่อยู่ระหว่างขุดวางท่อใต้ดิน ได้รับทราบว่าจะทยอยคืนผิวถนนให้ตั้งแต่มกราคมไปจนถึงเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน 2564
   สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทอง เริ่มต้นจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสกรุงธนบุรี ไปตามแนวถนนเจริญนครผ่านแยกคลองสาน ไปสิ้นสุดที่ถนนสมเด็จเจ้าพระยาที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสิน มี 3 สถานี ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร และสถานีคลองสาน ให้บริการด้วยรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM 300 จำนวน 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ ความจุผู้โดยสาร 138 คน/ตู้ มีที่จอดรถวีลแชร์ตู้ละ1 คัน ตู้รถไฟฟ้ามีความกว้าง 2.89 เมตร ความยาว 12.75 เมตร ความสูงของรถ 3.5 เมตร สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 80 กม./ชม. คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 42,000 เที่ยว-คนต่อวัน มีความถี่ในช่วงเวลาเร่งด่วน 5-6นาที และเปิดให้บริการ 06.00-24.00 น.เหมือนบีทีเอส โดยในวันนี้หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิด คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

 


 

 

ดีเดย์ 27 พ.ย.นี้ กองเรือโดยสารใช้พลังงานไฟฟ้า (EV)

พร้อมประจำการในคลองผดุงกรุงเกษมครบ 7 ลำ

เป็นเรือโดยสารใช้พลังงานไฟฟ้า 100 เปอร์เซนต์ที่ให้บริการเป็น fleet แรกของประเทศ

 

   ดีเดย์ 27 พ.ย.นี้ กองเรือโดยสารใช้พลังงานไฟฟ้า (EV)พร้อมประจำการในคลองผดุงกรุงเกษมครบ 7 ลำ เป็นเรือโดยสารใช้พลังงานไฟฟ้า 100 เปอร์เซนต์ที่ให้บริการเป็น fleet แรกของประเทศ


   (12 พ.ย.63) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ส่งเสริมการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางน้ำ โดยเปิดให้บริการเรือโดยสารในคลองภาษีเจริญในช่วงที่ผ่านมา และในปัจจุบันกทม.ก็ได้พัฒนาเส้นทางการเดินเรือโดยสารเพิ่มอีก 1 เส้นทาง โดยได้ว่าจ้าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกทม. ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม โดยจัดหาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า ( Electric Vehicle : EV) พร้อมระบบโซลาร์เซลล์ จำนวน 8 ลำ เพื่อให้บริการประชาชนเต็มรูปแบบ โดยได้ต่อเรือใหม่เพิ่มอีก 7 ลำ หลังจากที่ได้นำเรือใช้พลังงานไฟฟ้าต้นแบบ 1 ลำทดลองวิ่งให้บริการ ความคืบหน้าล่าสุดขณะนี้การต่อเรือลำใหม่ทั้ง 7 ลำ แล้วเสร็จตามแผน และเตรียมนำมาให้บริการประชาชนเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.63 นี้เป็นต้นไป


   พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธาณะให้มากขึ้น ด้วยการเดินทางหลากหลายรูปแบบ ทั้งรถโดยสารประจำทาง (ล้อ) รถไฟฟ้า (ราง) และทางน้ำ (เรือ) ซึ่งการเดินทางโดยเรือในคลองผดุงกรุงเกษมจะเชื่อมกับรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ที่สำคัญโครงการนี้ยังถือเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสายแรกของประเทศ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เพราะเรือทุกลำใช้พลังงานสะอาด ปลอดจากมลพิษทั้งเสียง ฝุ่น ควัน ส่งเสริมการรักษาสภาพแวดล้อมของเมืองในเส้นทางคลองสายประวัติศาสตร์ และยังส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำเรือ ผู้โดยสารและชุมชนที่อยู่อาศัยโดยรอบเส้นทางให้บริการอีกด้วย ”


   นายประภาส เหลืองศิรินภา รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวว่า นอกจากการพัฒนาเส้นทางเดินเรือเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนแล้ว สจส.อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำเส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวเลียบคลองผดุงกรุงเกษม โดยสามารถปั่นจักรยานจากสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสถานีหัวลำโพง และจากรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีราชเทวี มายังทางปั่นเลียบคลองผดุงกรุงเกษมเชื่อมเข้าสู่เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งในเส้นทางมีแหล่งท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนและย่านตลาดเก่าแก่ อย่างถนนเยาวราช โบ๊เบ๊ ตลาดสะพานขาว ตลาดมหานาค ตลาดนางเลิ้ง ตลาดเทเวศร์ วัดและวัง เช่น วัดเทพศิรินทราวาส วัดมกุฎกษัตริยาราม วัดเทวราชกุญชร พระตำหนักใหญ่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระจันทรบุรีนฤนาถ (วังเทเวศร์) โดยจะนำผลการสำรวจมาดำเนินการจัดทำเส้นทางจักรยานต่อไป


   ด้านนายเกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กล่าวว่า เรือที่ต่อใหม่ทั้ง 7 ลำ เมื่อนำมาให้บริการจะส่งผลให้สามารถเพิ่มรอบเรือได้มากขึ้น เป็นทุก ๆ 15 นาที จากปัจจุบันที่ใช้เรือต้นแบบและเรือดีเซลรวม 2 ลำให้บริการได้วันละ 14 เที่ยว จะเพิ่มเที่ยวให้บริการได้ถึงวันละ 39 เที่ยว เริ่มตั้งแต่ 06.00 – 19.00 น. ทั้งนี้ในระหว่างวันจะปรับให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารแต่ละช่วงเวลา สำหรับวันเสาร์อาทิตย์รอบการให้บริการจะอยู่ที่วันละ 23 เที่ยว


   ทั้งนี้คุณสมบัติของเรือที่นำมาให้บริการเป็นเรือโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100 เปอร์เซนต์ทุกลำ หลังคาของเรือมีแผงโซล่าเซลล์ 12 แผง ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในระบบไฟฟ้าส่องสว่างภายในเรือ และยังเป็นพลังงานสำรองในการขับเคลื่อนเรือ เรือทุกลำจะติดตั้งระบบจีพีเอส ติดตามตำแหน่งเรือ โดยมีศูนย์ควบคุมที่คอยติดตามตรวจสอบตลอดช่วงเวลาที่ให้บริการประชาชน นอกจากนี้ได้ปรับปรุงคุณสมบัติต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยออกแบบที่นั่งและทางเดินในเรือให้สะดวกสบายขึ้น มีลายกันลื่นตลอดพื้นเรือ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร บรรทุกได้ 30 ที่นั่ง และยังจัดพื้นที่รองรับผู้โดยสารที่ใช้วีลแชร์ได้ 1 คัน ส่งเสริมการเดินทางที่ทั่วถึงเท่าเทียมเพื่อคนทั้งมวล ขนาดเรือยาว 9.9 ม. กว้าง 2.98 ม. น้ำหนัก 5.98 ตัน ความเร็วสูงสุด 17 กม./ชม. เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ความเร็วสูงสุด 15 กม./ชม. โดยชั่วโมงการทำงานจากการชาร์จแบตเต็ม 1 ครั้ง สามารถให้บริการได้นาน 4 ชั่วโมง

 

 


 

 

ผู้แทนจากหอการค้าเยอรมัน-ไทย เข้าเยี่ยม บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

  

   ผู้แทนจากหอการค้าเยอรมัน-ไทย เข้าเยี่ยม บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

   ดร.เอกรินทร์ วาสนาส่ง รองกรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์และพัฒนาเมือง ให้การต้อนรับผู้แทนจากหอการค้าเยอรมัน-ไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยม บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และร่วมการประชุม Video Conference ร่วมกับผู้แทนจาก 7 บริษัท จากประเทศเยอรมัน พร้อมรับฟังข้อมูลโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้อง Smart Mobility และ Intelligent Transportation System เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและเทคโนโลยีนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้เป็นเมืองอัจฉริยะในอนาคต ที่กำลังจะประชุมในวันพฤหัสที่ 5 พฤศจิกายน 2563 เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุม 2 บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

 


 

บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ประชุมการตรวจราชการเฉพาะพื้นที่
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 รอบที่ 2 ร่วมกับผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร
ณ ห้องประชุมผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

 


 

พร้อมเปิดเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสไปคูคต ธ.ค.63 นี้ เชื่อมต่อการเดินทางระบบราง 3 จังหวัด สมุทรปราการ กรุงเทพฯ ปทุมธานี ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

   พร้อมเปิดเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสไปคูคต ธ.ค.63 นี้ เชื่อมต่อการเดินทางระบบราง 3 จังหวัด สมุทรปราการ กรุงเทพฯ ปทุมธานี ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
   (7 ต.ค.63) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค.63 บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการเปิดเดินไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ได้นำขบวนรถไฟฟ้าวิ่งทดสอบครั้งแรก (First Train In) บนเส้นทางส่วนต่อขยายจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) เพิ่มเติมอีก 7 สถานี คือ สถานีพหลโยธิน 59 (N18) สถานีสายหยุด (N19) สถานีสะพานใหม่ (N20) สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช (N21) สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ (N22) สถานีแยกคปอ. (N23) และสถานีคูคต (N24) โดยการนำขบวนรถไฟฟ้าวิ่งทดสอบครั้งแรก (First Train In) เป็นไปด้วยความเรียบร้อย งานโยธา และงานติดตั้งระบบการเดินรถทั้ง 7 สถานีแล้วเสร็จเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
   จากนั้นในช่วงตลอดเดือนตุลาคมจะทดสอบเดินรถแบบ Dynamic Test เพื่อทดสอบฟังก์ชั่นการทำงานของระบบขณะเคลื่อนไปบนราง และการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Running) ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเปิดให้บริการประชาชนในเดือนธันวาคม 2563 นี้
   ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางส่วนต่อขยายจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุไปยังสถานีปลายทางคูคต ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางรถไฟฟ้าที่มีความสำคัญของกรุงเทพมหานครโซนเหนือ ผ่านสถานที่ราชการและย่านชุมชนประกอบด้วย ย่านสะพานใหม่ สายหยุด ตลาดยิ่งเจริญ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ โรงเรียนนายเรืออากาศ ย่านลำลูกกา และคูคต เป็นทางเลือกให้กับประชาชนให้หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ช่วยลดปริมาณการจราจรที่คับคั่งบนถนนพหลโยธิน นอกจากนี้เมื่อเปิดเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางส่วนต่อขยายจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ไปยังสถานี คูคต จะถือเป็นการเปิดให้บริการเดินรถเต็มระบบ จากสถานีคูคตไปจนถึงสถานีเคหะฯ ที่มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 68.25 กิโลเมตร จำนวน 59 สถานีเชื่อมโยง 3 จังหวัด ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัยในการเดินทาง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย





 

“กรุงเทพธนาคม” จัดชุดเฉพาะกิจ4ทีม เดลิเวอรี่จัดเก็บขยะปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ทุกวัน เผยขณะนี้มีขยะโควิด-19 จากสถานพยาบาล รวม 12 แห่งแล้ว ยืนยันประสิทธิภาพเตาเผาของบริษัทฯยังสามารถรองรับได้อีกวันละ 10 ตันไม่ให้เกิดปัญหาขยะตกค้าง พร้อมขอความร่วมมือประชาชนหยุดอยู่บ้าน เว้นระยะห่างทางสังคมตามนโยบายรัฐบาล
“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

 

   “กรุงเทพธนาคม” จัดชุดเฉพาะกิจ4ทีม เดลิเวอรี่จัดเก็บขยะปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ทุกวัน เผยขณะนี้มีขยะโควิด-19 จากสถานพยาบาล รวม 12 แห่งแล้ว ยืนยันประสิทธิภาพเตาเผาของบริษัทฯยังสามารถรองรับได้อีกวันละ 10 ตันไม่ให้เกิดปัญหาขยะตกค้าง พร้อมขอความร่วมมือประชาชนหยุดอยู่บ้าน เว้นระยะห่างทางสังคมตามนโยบายรัฐบาล “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

   เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยว่า จากที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด – 19 มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 – 30 เมษายน 2563 ซึ่งจากข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิดทั่วประเทศ ขณะนี้ (26 มี.ค.) มีถึง 1,045 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่รักษาตัวในสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 434 ราย ซึ่งบริษัทฯในฐานะผู้ดำเนินการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อจากสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้มีการปรับการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยขณะนี้ได้เพิ่มชุดปฏิบัติการเก็บขนขยะติดเชื้อโควิด-19 จากที่มีอยู่ 1 ชุดเพิ่มเป็น 4 ชุด โดยทั้ง 4 ชุดขณะนี้ได้รับการติดต่อจากสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร รวม 12 แห่งที่มีผู้ป่วยโควิด-19 นอนรักษาตัวอยู่ เข้าดำเนินการจัดเก็บขยะติดเชื้อทุกวัน โดยบริษัทฯมีมาตรการเฉพาะสำหรับขยะติดเชื้อโควิด-19 จะส่งชุดไปจัดเก็บและนำเข้าเผากำจัดทันทีแยกจากขยะติดเชื้อทั่วไป และเพิ่มมาตรการความปลอดภัยสำหรับทีมปฏิบัติการโดยฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในทุกขั้นตอนตั้งแต่ก่อนเริ่มจัดเก็บขยะจนกระทั่งนำขยะเข้าเตาเผาโดยเจ้าหน้าที่จะต้องถอดชุดและอุปกรณ์ป้องกัน ทั้งชุดป้องกัน ถุงมือที่ต้องใส่ทำงาน 2 ชั้น หมวกสวม 2 ชั้น คลุมทุกส่วนของศีรษะ ลงมาถึงคอ โดยเว้นเฉพาะช่วงดวงตา ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดนี้จะต้องถอดและนำเข้าเตาเผาพร้อมขยะติดเชื้อโควิดทันทีที่ปฏิบัติงานแล้วเสร็จ

   นายมานิต กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของหน่วยงานแพทย์สาธารณสุขได้มีแผนรองรับทั้งกรณีที่โรงพยาบาลที่รับรักษามีจำนวนเตียงไม่เพียงพอ โดยมีแผนการเพิ่มโรงพยาบาลสนามด้วยนั้น ทางบริษัทฯได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามสถานการณ์และนำมาปรับแผนดำเนินการของบริษัทฯให้สอดคล้องกัน ซึ่งบริษัทฯจะจัดทีมเข้าจัดเก็บขยะติดเชื้อโควิด-19 อย่างมีมาตรฐานเดียวกันทุกสถานที่เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอันตรายอย่างรัดกุมที่สุด โดยประสิทธิภาพการกำจัดขยะติดเชื้อของบริษัทฯในสถานการณ์ปกตินั้นพื้นที่กรุงเทพฯมีขยะติดเชื้อเข้ากำจัดประมาณ 40 ตัน/วัน ซึ่งประสิทธิภาพของเตาเผาสามารถกำจัดขยะได้เพิ่มอีก 10 ตันต่อวัน รวมความสามารถกำจัดขยะได้สูงสุดที่ 50 ตันต่อวัน ไม่ให้เกิดปัญหาขยะติดเชื้อตกค้างดังที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามในช่วงประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินนี้ทำให้สถานประกอบการที่เป็นคลีนิกเสริมความงาม คลีนิกทันตกรรมซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลิตขยะติดเชื้อกลุ่มใหญ่หายไปจากระบบด้วย จึงยังมีกำลังการกำจัดขยะเหลือพอรองรับหากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสยังสูงขึ้นต่อเนื่อง

   นายมานิต กล่าวย้ำด้วยว่า “บริษัทฯได้ร่วมรณรงค์ให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯโปรดให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการหยุดกิจกรรมต่าง ๆ นอกบ้าน หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม เว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อร่วมกันหยุดยั้งการแพร่เชื้อ ตามนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อร่วมเป็นส่วนสำคัญในการแก้วิกฤตของชาติในขณะนี้ เพื่อให้ดำเนินการควบคุมโรคของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความปลอดภัยของประชาชนทุกคน”

 


 

 

บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ยังคงมุ่งเน้นภารกิจให้บรรลุเป้าหมายเหมือนเดิม
ในการดำเนินโครงการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชน งานเพื่อสังคมและสาธารณะ
การสื่อสารและโทรคมนาคม ของกรุงเทพมหานคร อย่างต่อเนื่อง

 


 


กสทช. ผนึก กทม.-กรุงเทพธนาคมลุยต่อโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน
ดึงเงินกองทุน กทปส. ร่วมลงขัน 2.7 หมื่นล้านบาท 

กสทช. ผนึก กทม.-กรุงเทพธนาคมลุยต่อโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ดึงเงินกองทุน กทปส. ร่วมลงขัน 2.7 หมื่นล้านบาท หวังช่วยซับซิไดซ์ค่าเช่าท่อให้เอกชนจ่ายน้อยลง ย้ำให้กรุงเทพธนาคมบริหาร แต่เก็บค่าเช่าได้เท่าที่ลงขัน ฟากเอกชนโวยใช้เงินกองทุนเก็บค่าเช่าผิดวัตถุประสงค์

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมนำเสนอโครงการลงทุนท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พิจารณา เนื่องจากก่อนหน้านี้บอร์ดดีอีเอสเคยมีมติให้ กสทช.และ กทม.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ


กสทช.ดึง กทม.-KT ลงขัน

โครงการนี้ กสทช.จะเป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการนี้ ร่วมกับ กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) เพื่อช่วยไม่ให้ค่าเช่าที่โอเปอเรเตอร์ผู้เช่าใช้ท่อร้อยสายต้องจ่ายค่าเช่าในราคาแพง และผลักภาระนี้มาสู่ประชาชนด้วยการขึ้นค่าบริการโทรคมนาคมต่าง ๆ เพราะก่อนหน้านี้ กทม.มีหนังสือแจ้งมาว่า ต้องเก็บค่าประกอบการจากโอเปอเรเตอร์ราว 8-9 พันบาท/ท่อกิโลเมตร/เดือน ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระนี้ได้ กสทช.จึงต้องเข้ามาลงทุนร่วมกับ กทม.ด้วย

โดย กสทช.จะใช้เงินลงทุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งโอเปอเรเตอร์ผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนราว 1.75% ของรายได้เข้ากองทุนทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีเงินคงเหลือพร้อมใช้งานได้ราว 4,000 ล้านบาท และจะมีทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้นทุกปี


ค่าเช่าถูก “KT” บริหาร

“ม.44 เคยมีคำสั่งให้เพิ่มวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. ให้สามารถใช้เงินสนับสนุนโครงการที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการสนับสนุนเพื่อประโยชน์สาธารณะทางโทรคมนาคมก็ทำได้หมด ฉะนั้นการลงทุนท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน ก็สามารถใช้เงินกองทุนได้ แต่ กสทช.จะไปออกค่าเช่าให้เอกชนโดยตรงเลยไม่ได้ จึงมองไปที่การจะเข้าไปลงทุนเอง เพราะทำทีเดียวจบ ในระยะยาวดีกว่า ถ้าไม่ทำแบบนี้โอเปอเรเตอร์ก็ไม่เอาสายลงใต้ดิน เพราะต้นทุนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินสูงกว่า 9 พันบาท/เดือน ขณะที่พาดสายบนเสาจ่ายแค่พันกว่าบาท”

การลงทุนท่อร้อยสาย กทม. เป็นผู้ได้รับประโยชน์ส่วนหนึ่ง เพราะประหยัดงบประมาณในการบำรุงรักษาบริเวณที่พาดสายสื่อสาร ฉะนั้น กทม.ต้องลงมาร่วมลงทุนด้วย ต้องมีการประเมินสัดส่วนประโยชน์ที่แต่ละคนจะได้ เพื่อกำหนดเม็ดเงินลงทุนของแต่ละฝ่าย ซึ่งจะมี 3 ฝ่าย ได้แก่ กสทช. กทม. และ KT ที่จะเป็นผู้บริหารท่อร้อยสาย เพื่อให้ค่าเช่าที่โอเปอเรเตอร์ต้องถูกลง


ชงขออนุมัติบอร์ดดีอี

“เอกชนยังต้องจ่ายค่าเช่าอยู่ แต่จะตัดสัดส่วนการลงทุนที่ กสทช. ลงทุนเพื่อซับซิไดซ์โอเปอเรเตอร์ออกไป” KT จะเก็บค่าบริการได้เฉพาะเท่าที่เป็นสัดส่วนที่ตัวเองลงทุนไป จะไม่สามารถเอาค่าใช้จ่ายในการลงทุนมาคำนวณค่าเช่าได้ทั้งหมด เพราะ กสทช.ไม่ได้ลงทุนเพื่อมุ่งหากำไร แต่ต้องการไม่ให้โอเปอเรเตอร์ต้องจ่ายค่าเช่าแพง และจะส่งผลให้ต้องเก็บค่าบริการจากประชาชนผู้ใช้บริการแพงขึ้นไปด้วย สมมุติว่า ประเมินคร่าว ๆ แล้ว KT ลงทุนในโครงการนี้ 30% ก็จะเท่ากับว่า โอเปอเรเตอร์จ่ายค่าเช่าแค่ 30% เท่านั้น ส่วนที่ กทม.กับ กสทช.ลงทุนไม่ต้องนำไปคิดเป็นค่าเช่า”

โดยจากนี้ กสทช.จะนำเสนอโครงการนี้ให้บอร์ดดีอีพิจารณาเร็วที่สุด หลังจากนั้นจะมีการตั้งคณะทำงานประเมินโครงการเพื่อตีมูลค่าที่ทั้ง กสทช. กทม. และ KT ต้องลงทุน ก่อนจะเริ่มลงมือสร้าง ซึ่งเชื่อว่า หากโครงการได้รับอนุมัติแล้ว ไม่เกิน 2 ปีสายสื่อสารทั่วกรุงเทพฯก็จะถูกนำลงใต้ดินทั้งหมด


ชี้วินวินกับทุกฝ่าย

“เงินกองทุน กทปส. มาจากเงินที่บรรดาโอเปอเรเตอร์ผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. จ่ายสมทบเข้ามาทุกปี การที่ กสทช.มีแผนที่จะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของโอเปอเรเตอร์เอง ซึ่งจะส่งผลต่อประโยชน์สาธารณะด้วย ไม่ว่าประชาชนจะไม่ต้องจ่ายค่าใช้บริการแพงบ้านเมืองสวยงามไม่มีสายพาดรกรุงรัง เชื่อว่า ไม่น่าจะมีปัญหา ยิ่งจะทำให้บรรดาโอเปอเรเตอร์ยินดีที่จะจ่ายเงินสมทบเข้ามามากขึ้น”

ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม 11 ราย ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ลงนามสัญญาบันทึกความร่วมมือการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของ บมจ.ทีโอทีไปแล้วนั้น เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ถ้าทีโอทีมีท่อร้อยสายในพื้นที่ใดแล้ว เป็นเรื่องดีที่ผู้ประกอบการจะนำสายสื่อสารลงใต้ดินเลย แต่ยังมีหลายพื้นที่ที่ยังไม่มีท่อร้อยสาย ซึ่งทีโอทีก็ไม่สามารถขุดสร้างใหม่ได้อยู่ดี

สำหรับท่อร้อยสายใต้ดินของทีโอที ปัจจุบันมีอยู่ 33,250 ท่อกิโลเมตรในเขตกรุงเทพฯ และ 5,485 ท่อกิโลเมตรในต่างจังหวัด มีพื้นที่ว่างให้โอเปอเรเตอร์รายอื่นเช่าใช้ได้ 20%


เอกชนติงล้วงเงินกองทุน กทปส.

ด้านแหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รู้สึกแปลกใจที่ กสทช.จะใช้เงินกองทุน กทปส.มาลงทุนท่อร้อยสายลงใต้ดิน เพราะก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการเคยรวมตัวกันเพื่อเสนอโครงการลงทุนทำท่อร้อยสายเพื่อขอให้ กทปส.สนับสนุนก็ถูกปฏิเสธ โดยระบุว่า เงินกองทุนต้องไม่นำไปใช้เพื่อแสวงหารายได้เชิงพาณิชย์ ซึ่งการทำท่อร้อยสายจะต้องมีการเก็บค่าเช่า ไม่ได้ให้ใช้งานฟรี จึงไม่เข้าข่ายการใช้เงินของกองทุน


“จะอ้างว่า ม.44 มาแก้ไขวัตถุประสงค์ใช้เงินแล้ว ทำให้เข้าเกณฑ์ ก็เป็นคำสั่งที่ออกมาพักหนึ่งแล้ว และมีหลายโครงการถูกปฏิเสธเพราะติดเรื่องแสวงหารายได้”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กลางปี 2562 กทม.มีแนวคิดริเริ่มโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่ กทม. ระยะทาง 2,450 กม. วงเงินก่อสร้างไม่เกิน 27,000 ล้านบาท เพื่อจัดระเบียบเมืองให้สวยงามตามนโยบายรัฐบาล ซึ่ง กทม.ได้มอบให้ KT ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กทม.รับช่วงบริหารโครงข่าย แต่ก็เงียบหายไปหลังมีกระแสโจมตีและตั้งข้อสังเกตว่าอาจเอื้อให้กับเอกชนบางราย

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 

ข้อมูลเว็บไซต์ : https://www.prachachat.net/ict/news-412312

 


 

คณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เข้าอวยพร-รับพรปีใหม่ จากผู้ว่าฯอัศวิน

   คณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เข้าอวยพร-รับพรปีใหม่ จากผู้ว่าฯอัศวิน

   เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 เวลา 09.30น. นายปิยะ พูดคล่อง ประธานกรรมการ พร้อมด้วย นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงาน บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เข้าอวยพรและรับพรปีใหม่ จาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2563

   โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ขอบคุณผู้บริหารและพนักงาน บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำงานมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี พร้อมอวยพรให้มีแต่ความสุขสมหวังในชีวิต คิดสิ่งใดขอให้สมหวังตามความปรารถนา และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เพื่อให้สามารถปฎิบัติงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

 


 


Visitors: 28,950